Index

จริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องของ Visual Basic ซักเท่าไหร่ แต่เนื่องจากลงทะเบียนเรียนไปแล้ว ก็จดไว้อ่านเองเล่นๆ ตอนสอบครับ

  • 1964 กำเนิดภาษา BASIC
  • 1975 กำเนิดบริษัท Microsoft
  • 1991 Microsoft ให้กำเนิดภาษา Visual Basic
  • 2001 ภาษา Visual Basic พัฒนากลายเป็น Visual Basic .NET

แม้ว่าจะใช้ชื่อของ Visual Basic (หรือที่มักเรียกกันย่อๆ ว่า VB) จะได้มาจากภาษา BASIC แต่ภาษาทั้งสองก็แตกต่างกันเยอะมาก เรียกได้ว่าเอามาแต่โครง syntax เพียงเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะจดเรื่องของ VB.NET ทั้งหมด แต่จะขอเรียกมันว่า Visual Basic เพื่อให้เกียรติแก่รากฐานดั้งเดิมของมัน (อีกแล้ว) ละกันครับ

อนึ่ง ผมจะไม่ลงรายละเอียดด้าน GUI มากนะ (ดีไซน์ไม่เก่ง) จะเขียนแนะนำแค่คร่าวๆ แค่ให้รันโปรแกรมได้พอ


ตัวภาษาเป็น OOP เต็มรูปแบบ ระบบตัวแปรเป็นแบบ static และต้องประกาศตัวแปรทุกครั้ง จุดแข็งคือมันทำงานบน Windows ซึ่งเป็น OS ที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก ณ ขณะนี้

ผู้ใช้ Windows สามารถสร้างโปรแกรมได้โดยการลง Visual Studio เปิดโปรแกรมขึ้นมา สร้างโปรเจคใหม่ แล้วก็เริ่มเขียนโปรแกรมกันได้เลย

ส่วนผู้ใช้ฝั่ง Unix/Linux ถึงแม้อาจจะรันโปรแกรมผ่าน Wine (หรือใช้กำลังภายในอื่นๆ) ได้ แต่คาดว่าหลายคนคงมีภาษาอื่นที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าอยู่แล้วครับ :P


ก่อนจากในตอนนี้ เรามาทักทายโลกกันหน่อยดีกว่า เริ่มด้วยเปิดโปรแกรม Visual Studio ขึ้นมา เลือก File -> New Project แล้วเลือก Windows Application จากแถบของ Visual Basic ได้เลย

เรียบร้อยแล้ว เราจะได้หน้าต่างโปรแกรมมา 1 อัน (ชื่อ Form1) ไปที่ Toolbox -> All Windows Forms แล้วลาก Button มาวางไว้บน Form1 นั้น ดับเบิลคลิกเข้าไปที่ Button1 ที่เพิ่งลากมาไว้ จะเห็นว่ามี code อยู่บ้างแล้ว ลงมือพิมพ์ให้ code ทั้งหมดมีรูปร่างหน้าตาเป็นดังนี้ครับ (เพิ่มแค่บรรทัดที่ 4 ถ้าทำตามทั้งหมดอย่างถูกขั้นตอน)

    Public Class Form1

      Private Sub Button1_Click(ByVal sender As System.Object, ByVal e As System.EventArgs) Handles Button1.Click
        MessageBox.Show("Hello World.")

      End Sub
    End Class

เรียบร้อยแล้วก็กดปุ่ม [F5] หรือหาปุ่มสามเหลี่ยมสีเขียวที่บอกว่า Run ครับ เราจะได้โปรแกรมที่มีหน้าต่างว่างๆ พร้อมปุ่มใหญ่ๆ 1 ปุ่มออกมา เมื่อคลิกที่ปุ่มนั้นก็จะพบกับกล่องข้อความทักทายว่า Hello World. ก็เป็นอันเสร็จพิธี

เรียบร้อยแล้ว กด ok เพื่อปิดกล่องข้อความ แล้วกดปุ่ม x สีแดงที่มุมขวาบนเพื่อปิดโปรแกรมที่เราทดสอบ (หรือจะกดปุ่มสี่เหลี่ยม Stop ที่ขึ้นแทนที่ปุ่มสามเหลี่ยม Run ก็ได้) ปิดโปรแกรม Visual Studio ตามปรกติแล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ

Nattawut Phetmak

Jack of all Trades

blog comments powered by Disqus